ไฟไหม้รถยนต์ ต้องทำอย่างไร วิธีรับมือและแก้ไขเบื้องต้นไฟไหม้รถยนต์ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีป้องกันและแก้ไขเหตุฉุกเฉินจากไฟไหม้รถ โดยหมั่นตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน สังเกตความผิดปกติของเครื่องยนต์ หากมีสิ่งผิดปกติให้รีบนำรถเข้าศูนย์บริการ ไม่ปรับแต่งเครื่องยนต์
หากเกิดไฟไหม้รถยนต์แล้ว ควรตั้งสติให้มั่น ไม่ตื่นตระหนก นำรถจอดข้างทาง ปิดสวิตช์ ดับเครื่องยนต์ทันที สามารถใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นต้นเพลิงได้ เมื่อไม่มีประกายไฟแล้วให้รีบถอดขั้วแบตเตอรี่ออก
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ไฟไหม้รถเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่รถที่มักเกิดไฟไหม้ ได้แก่ รถที่ติดตั้งระบบก๊าซ LPG หรือ NGV ที่ไม่ได้มาตรฐานและขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกวิธี
รถเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน รถที่ผ่านการปรับแต่งสภาพและใช้อะไหล่ที่ไม่มีคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะที่รถใหม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ได้ หากไม่ดูแลรักษาสภาพเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรรู้เกี่ยวกับการป้องกันและการปฏิบัติตนกรณีเกิดไฟไหม้รถ ดังนี้
วิธีป้องกัน
– ควรตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เติมน้ำหม้อน้ำในระดับที่กำหนด
– เช็กท่อน้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่มีรอยรั่ว ไม่มีเศษวัสดุติดในหม้อน้ำและท่อยาง
– ปรับตั้งสายพานมีความตึงในค่าที่กำหนด
– สังเกตกระโปรงหน้ารถ หากมีเขม่าดำเกาะ แสดงว่า เครื่องยนต์ทำงานไม่สมบูรณ์
– ตรวจสอบใต้ท้องรถ หากมีรอยน้ำมันหยดควรรีบแก้ไขโดยด่วน
– เช็กสายไฟ ต้องไม่มีรอยขาด ไม่มีรอยน้ำมันรั่วซึม
– สังเกตน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซหากลดลงอย่างรวดเร็ว เครื่องยนต์ร้อนจัด ได้กลิ่นเหม็นไหม้ของยางหรือพลาสติก กลิ่นก๊าซรั่ว เครื่องยนต์มีเสียงดังผิดปกติให้รีบนำรถไปตรวจสอบและซ่อมแซมทันที
– จัดเตรียมถังดับเพลิงเคมีขนาดเล็กไว้ด้านข้างคนขับ เพื่อสามารถหยิบมาใช้ได้ทันที
เมื่อไฟไหม้รถ กรณีเกิดไฟไหม้รถ
– รีบนำรถจอดริมข้างทางในทันที
– รถติดตั้งระบบก๊าซ ให้ปิดสวิตช์ เพื่อตัดการทำงานของระบบก๊าซ พร้อมดับเครื่องยนต์
– หากไฟไหม้รถเพียงเล็กน้อย ให้ควบคุมเพลิงด้วยตนเองในเบื้องต้น โดยใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นบริเวณต้นเพลิงให้ดับสนิท
– หากมีเปลวไฟออกมาจากฝากระโปรงรถ ให้ปลดสลักฝากระโปรง และฉีดพ่นผ่านทางช่องฝากระโปรงที่แง้มไว้ ห้ามเปิดฝากระโปรงในทันที เพราะจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น เมื่อไฟเริ่มสงบ จึงค่อย ๆ เปิดฝากระโปรง
– ใช้ผ้ารองหรือสวมถุงมือ เนื่องจากฝากระโปรงมีความร้อนสูง หากเปิดได้แล้ว ควรฉีดพ่นให้ทั่วห้องเครื่องจนมั่นใจว่าไฟดับสนิท
– ไฟดับสนิทแล้วควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออก ป้องกันมิให้เปลวไฟปะทุ
จากนั้นให้รีบโทรศัพท์แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191 ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199 สายด่วนนิรภัย 1784 ได้ทั้งสามช่องทางการติดต่อ
สิ่งสำคัญผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน สังเกตความผิดปกติของรถ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นเก่าที่ผ่านการปรับแต่งสภาพและใช้อะไหล่ที่ไม่มีคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงไม่ควรซื้อรถมือสองที่ไม่ทราบประวัติการขับขี่มาใช้งาน พร้อมเรียนรู้วิธีแก้ไขเหตุฉุกเฉิน ที่สำคัญ ควรขับรถในอัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดแรงปะทะที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้รถได้
ตรวจสอบเบี้ยประกันภัยรถยนต์ Click
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)