ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

          ไข้หวัดใหญ่ เป็นเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Influenza ที่ทำให้เกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่อาจรุนแรง โดยไวรัสตัวนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้สูงกว่า มีอาการอ่อนเพลียมากกว่าไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจชนิดอื่นๆ

ยิ่งไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A นอกจากจะรุนแรงมากแล้ว ยังมีการกลายพันธุ์ และสามารถแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมระหว่างไวรัสของมนุษย์กับหมู หรือนกและสัตว์ปีกต่างๆ ทำให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีโอกาสระบาดในวงกว้าง และรุนแรงมาก เช่นที่เกิดล่าสุดคือ ไวรัส A H1N1 (2009) เกิดจากการผสมผสานของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก พอเริ่มติดในคนเป็นครั้งแรกในปี 2009 ก็เกิดการระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว แล้วสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ดี ทำให้ในที่สุดไวรัส A H1N1 (2009) กลายเป็นไวรัสประจำฤดูกาลไปแล้ว

การแพร่เชื้อ

คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง หรือได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ ก๊อกน้ำ แป้นคอมพิวเตอร์ แล้วใช้มือแคะจมูก ขยี้ตา ป้ายปาก โดยไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อน ทั้งนี้ ไม่มีรายงานการติดเชื้อจากการรับประทานเนื้อหมู ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1 – 3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน แต่ในเด็กเล็ก อาจแพร่เชื้อได้นานถึง 10 วัน

อาการ

มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายอาจไม่มีอาการคัดจมูก

การป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A

วิธีง่ายๆ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี และฉีดอย่างต่อเนื่อง เพราะ ปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล แนะนำให้ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง นั่นเพราะ ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมักสูงที่สุดหลังฉีด 6 เดือนแรก และคงอยู่ได้ประมาณ 1 ปี จึงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีค่ะ วัคซีนนี้เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง หรือมีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคปอด และโรคหัวใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก

-parentsone.com
-ekachaihospital.com

Write A Comment