“ระยะเวลารอคอย” คืออะไร? ทำไมต้องมี “ระยะรอคอย”
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เชื้อไวรัสโคโรน่าเริ่มระบาดหนัก จนทำให้มีการเจ็บ-ป่วย หรือ ถึงขั้นเกิดการสูญเสียขึ้น หลายคนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการซื้อประกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “ประกันภัยไวรัสโคโรน่า” หรือ อีกชื่อที่ทุกคนรู้จัก “ประกันภัยโควิด-19” รวมถึงการซื้อ “ประกันสุขภาพ” เพื่อเพิ่มความคุ้มครองของตัวเองกันมากขึ้น แต่ตอนที่ซื้อประกันโควิด-19 หลายๆคนก็น่าจะสังเกตเห็นว่าพอซื้อประกันเสร็จ ทำไมบริษัทประกันจะมีกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ต้องมี “ระยะเวลารอคอย” (Waiting Period) เอาไว้ด้วย
หลายๆคนเกิดความสงสัยว่า เมื่อซื้อประกันแล้วทำไมยังต้องรอคุ้มครองอีก? ทำไมไม่คุ้มครองเลยหล่ะ? ก็ในเมื่อซื้อแล้ว จ่ายเงินแล้วก็ควรจบหรือไม่ ทำไมต้องมีเงื่อนไขซับซ้อนให้เข้าใจยาก วันนี้ ANC จึงจะพาทุกคนมาเรียนรู้กับคำว่า “ระยะเวลารอคอย” ให้คลายข้อสงสัยกันค่ะ
“ระยะรอคอย” คืออะไร? มีไว้ทำไม?
“ระยะเวลารอคอย” คืออะไร? ความคุ้มครองเริ่มที่ตรงไหน?
“ระยะเวลารอคอย” (Waiting Period) คือ ระยะเวลาที่ผู้ซื้อประกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถเคลมประกันได้ ซึ่งการเคลมประกันนั้น จะเคลมได้เมื่อพ้นระยะรอคอย โดยเริ่มนับให้รอตั้งแต่วันที่บริษัทคุ้มครอง หรือวันที่อนุมัติกรมธรรม์/กรมธรรม์มีผลบังคับ
โดยจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆเลย คือ
การกำหนด “ระยะเวลารอคอย” จะขึ้นกับแต่ละแผนประกัน บางตัวก็สามารถคุ้มครองทันทีที่อนุมัติกรมธรรม์ เช่น “ประกันอุบัติเหตุ”
บางตัวก็ต้องมีระยะเวลารอคอยก่อนถึงจะคุ้มครองให้ เช่น “ประกันสุขภาพ”
แอดแนะนำทุกคนต้องอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขของแต่ละแผนประกันก่อนจะเลือกซื้อนะคะจะได้ไม่ต้องมีปัญหาตามมาภายหลัง
ยกตัวอย่าง กรณีที่เราซื้อประกันโควิด-19 เมื่อซื้อเสร็จ เรามักจะพบกับคำว่า ประกันโควิด-19 จะมี “ระยะเวลารอคอย” 14 วัน แต่หากเกิดเหตุก่อนจะไม่สามารถเคลมประกันได้
แล้วนับ “ระยะรอคอย” ยังไงหล่ะ?
*ขอยกเคสตัวอย่างประกันโควิด-19 เพื่ออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น
สมมุติว่าเราซื้อประกันโควิด-19 วันที่ 31 ส.ค. กรมธรรม์อนุมัติ/มีผลบังคับวันที่ 1 ก.ย. ให้เรานับ “ระยะรอคอย” 14 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ย เป็นวันที่ 1 และ นับต่อไปอีก 14 วัน เท่ากับว่าเราจะสามารถเคลมประกันได้จริงๆคือ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. เป็นต้นไป
แต่หากเราดันตรวจเจอเชื้อโควิด-19 แล้วต้องแอดมิทเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. นั่นหมายความว่า เราเป็นโรคที่กำหนดก่อนที่จะครบ “ระยะเวลารอคอย” 14 วัน กรณีประกันจะไม่จ่าย ซึ่งในเคสแบบนี้บริษัทอาจจะคืนเบี้ยที่เราจ่ายไปให้ด้วย
ทำไมต้องมี “ระยะเวลารอคอย”?
ตามจริงแล้วบริษัทประกันมีเงื่อนไขให้คนที่จะทำประกันได้ ต้องมีสุขภาพดี ถ้าหากมีโรคอะไรที่เป็นอยู่ หรือ เคยเป็นแต่รักษาหายแล้ว ก็ให้แจ้งกับบริษัทตั้งแต่ต้น โดยข้อนี้จะมีผลกับการพิจารณารับประกัน ซึ่งก็แล้วแต่ข้อกำหนดของประกันนั้นๆว่าจะมีข้อยกเว้นบางโรค หรือสามารถกำหนดให้รับประกันแต่เพิ่มเบี้ยประกันได้หรือไม่?
ซึ่งการมี “ระยะรอคอย” ก็เป็นอีกวิธีการที่บริษัทประกันให้เรายืนยันว่าสุขภาพเราดี เพื่อเป็นตัวกำหนด “ระยะเวลารอคอย” แทนการตรวจสุขภาพ หรืออาจจะใช้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไป
แต่ถ้าไม่มี “ระยะเวลารอคอย” คนที่รู้ตัวว่าป่วยอยู่แล้วจะสามารถมาซื้อประกันในราคาเบาๆ และหวังเคลมประกันในราคาหนักๆได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นบริษัทประกันคงจะเจ๊งกันระนาว ต่อไปก็คงไม่มีบริษัทไหนรับประกันสุขภาพอีกเลย

สรุปง่ายๆก็คือ บริษัทประกันต้องการ “รอ” ดูว่าเรา “ป่วย” เป็นโรค “ก่อนทำประกัน” หรือไม่ และโดยทั่วไปประกันก็จะมี “ระยะเวลารอคอย” ตั้งแต่ 30 วัน 90 วัน ไปจนถึง 120 วัน (แล้วแต่โรคและข้อกำหนดของตัวประกันนั้นๆ)
อะไรบ้างที่มี “ระยะเวลารอคอย”?
จริงๆมีรายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับระยะเวลารอคอยตามแต่ละประกันจะกำหนดนะคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มักจะมีระยะเวลารอคอยมาตรฐานอยู่
-
ประกันสุขภาพ : ระยะรอคอยอาจแบ่งได้ ดังนี้
-
ระยะรอคอย 30 วัน : สำหรับโรคทั่วไปที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ทั้ง IPD (ผู้ป่วยในที่แอดมิทในโรงพยาบาล) และ OPD (ผู้ป่วยนอกที่รับยาแล้วกลับบ้าน)
-
ระยะรอคอย 90 วัน : สำหรับโรคเรื้อรังและโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
-
ระยะรอคอย 120 วัน : สำหรับโรคดังต่อไปนี้
-
เนื้องอก ถุงน้ำดี หรือมะเร็งทุกชนิด
-
การตัดทอนซิลหรืออดีนอยด์
-
นิ่วทุกชนิด
-
เส้นเลือดขอดที่ขา
-
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
-
ต้อเนื้อหรือต้อกระจก
-
ไส้เลื่อนทุกชนิด
-
ริดสีดวงทวาร
-
หลายๆคนคงสงสัยว่าเท่าที่อ่านมา ก็เห็นมีระยะรอคอยทุกโรคเลย แล้วอย่างนี้ต้องรอทุกโรคเลยหรอ? จริงๆแล้วแต่ประกันกำหนด เราจึงควรอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้ดีเสียก่อนตัดสินใจ
ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าหากประกันตัวนั้นครอบคลุมการรักษาที่เกิดมาจากอุบัติเหตุ (มีคุ้มครองประกันอุบัติเหตุร่วมด้วยในแผนประกันที่เราซื้อ) ก็จะคุ้มครองอุบัติเหตุทันทีหลังกรมธรรม์มีผลบังคับ โดยไม่ต้องมีระยะเวลารอคอย ตามที่เคยแจ้งข้างต้นค่ะ
เป็นไงกันบ้างคะ วันนี้พอจะคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับ “ระยะรอคอย” และเข้าใจรายละเอียดเงื่อนไขของประกัน กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ จริงๆประกันไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนขนาดนั้น เพียงเราเปิดใจ และมีการศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของแผนประกันที่เราจะซื้ออย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ เพื่อเราจะได้ไม่เสียผลประโยชน์ที่เราควรจะได้รับ
“ANC เราเปลี่ยนเรื่องยากของประกันให้เป็นเรื่องที่ง่าย”